เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 มีการประชุมของคณะรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีน–อาเซียนครั้งแรก นำโดยนาย Wan Gang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก 10 ประเทศอาเซียน โดยได้ร่วมกันเปิดตัว “โครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจีน–อาเซียน” เพื่อจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียนอย่างเป็นทางการ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 โดยมีนายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้นำของประเทศอาเซียน ร่วมเป็นสักขีพยานพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนและชาติอาเซียน โดยร่วมกันเปิดตัวศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน ในพิธีเปิดงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 10
CATTC เป็นองค์กรถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งชาติเพียงแห่งเดียวของจีนที่ครอบคลุมอาเซียน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ก่อตั้งโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนและกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ร่วมกันเป็นผู้นำในการก่อสร้างและการบริหารจัดการ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่างซี–อาเซียน ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงให้จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินงานของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน
CATTC ยังเป็นฐานความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติ และเป็นฐานฝึกอบรมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับชาติที่ได้รับการยอมรับจากศูนย์บริการผู้ประกอบการเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติ หรือ Torch Center ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน
ผลงานหลัก
นับตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน (CATTC) ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน และรัฐบาลของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง CATTC ได้ดำเนินการตามแนวโครงการ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และแผนปฏิบัติการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี อีกทั้งยังช่วยสร้างชุมชนนวัตกรรมจีน–อาเซียน ด้วยความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ ดังนี้
ความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(1) สร้างกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีทวิภาคี เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีนและประเทศอาเซียน ปัจจุบัน CATTC ได้จัดตั้งกลไกการทำงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบทวิภาคี ระหว่างรัฐบาลกับ 9 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม และได้จัดตั้งพันธมิตรในการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับประเทศอาเซียน 7 ประเทศ ในรูปแบบคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนและร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศอาเซียน นอกจากนี้ กว่างซีและจังหวัดก๋วงนินห์ในเวียดนามได้จัดตั้งกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคแห่งแรกระหว่างจังหวัด เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือที่ลึกยิ่งขึ้น
(2) พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน และขยายความร่วมมือของ “สังคมวิทยาศาสตร์” โดยมีวิสาหกิจ สถาบันวิจัย สมาคม อุตสาหกรรมและอื่น ๆ ในจีนและในประเทศอาเซียนอย่างจริงจัง เข้าร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือ ปัจจุบัน สมาชิกเครือข่ายความร่วมมือนี้ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และมณฑล/เมืองในประเทศที่สำคัญ โดยหนึ่งในสามของสมาชิกมาจากประเทศในอาเซียน ซึ่งทางองค์กรได้ให้ความสำคัญกับจีนและประเทศในอาเซียนเป็นอย่างสูงในความร่วมมือเชิงปฏิบัติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(3) จัดการประชุมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจีน–อาเซียน เพื่อสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับพหุภาคีและความร่วมมือกับรัฐบาล การประชุมนวัตกรรมอาเซียนจัดขึ้นติดต่อกัน 8 ครั้ง โดยมีตัวแทนจากประเทศจีนและประเทศในอาเซียนระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการหรือสูงกว่า จำนวน 71 คน เข้าร่วมการประชุม มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 9,800 คน และมีโครงการจำนวนมากกว่า 3,000 โครงการ ได้รับการจัดแสดงและส่งเสริม รวมถึงมีลงนามข้อตกลงระหว่างจีนและประเทศอาเซียนมากกว่า 300 รายการ การประชุมดังกล่าวถือเป็นเวทีที่สำคัญในการรวบรวมและจัดแสดงความสำเร็จด้านนวัตกรรมที่โดดเด่นของจีนและประเทศในอาเซียน และส่งเสริมการเชื่อมโยงความต้องการทางเทคโนโลยีและความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างจีนและประเทศในอาเซียน
(4) จัดนิทรรศการและกิจกรรมจับคู่ด้านเทคโนโลยี เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 มีการจัดกิจกรรมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ จำนวน 95 รายการ ทั้งในและต่างประเทศ เกิดการจับคู่ด้านเทคโนโลยีมากกว่า 4,500 โครงการ มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับโครงการมากกว่า 7,400 แห่ง และมีข้อตกลงความร่วมมือประมาณ 600 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่ พลังงานใหม่ ยาแผนโบราณ การแปรรูปอาหาร ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมเคมีในประเทศอาเซียน
(5) สร้างฐานฝึกอบรมให้กับผู้ที่มีความสามารถด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับชาติ ดำเนินการตามแผนการฝึกอบรมสำหรับผู้ที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมจีน–อาเซียนในหลายระดับ และร่วมกันพัฒนาและปลูกฝังผู้ที่มีความสามารถระดับแนวหน้าของอาเซียนในด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการสร้างระบบบริการสำหรับผู้ที่มีความสามารถด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีในกว่างซี และดำเนินการหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเทคนิคของกว่างซี ปัจจุบันมีบุคลากรด้านเทคนิครุ่นเยาว์มากกว่า 80 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมในขณะเดียวกันบุคลากรกลุ่มนี้ ก็ได้เข้าร่วมในการดำเนินการตาม “โครงการเยาวชนดีเด่นแห่งอาเซียน”ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงการ “นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งอาเซียน” ของกว่างซี ที่จัดหลักสูตรการฝึกอบรมระหว่างประเทศสำหรับผู้จัดการทางด้านเทคนิคจีน–อาเซียน และสนับสนุนหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเทคนิคพิเศษต่าง ๆ รวมมากกว่า 350 คน จากประเทศในอาเซียน โครงการนี้ได้ช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(6) สร้างแพลตฟอร์มสำหรับข้อมูลการถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันทรัพยากรทางนวัตกรรม โดยการสร้างเว็บไซต์และแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจับคู่แบบธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานขององค์กร โดยมีโครงการเข้าร่วมมากกว่า 1,000 โครงการ แพลตฟอร์มของตลาดเทคโนโลยีออนไลน์ของกว่างซีให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบเต็มกระบวนการ รวมถึง “การนำเสนอ ธุรกรรม การแบ่งปัน การบริการและการสื่อสาร” ปัจจุบันได้รวมทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 53,217 โครงการ มีผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3,686 คน สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวน 823 แห่ง และสถานประกอบการมากกว่า 7,497 แห่ง
(7) เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลนวัตกรรมชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยในการพัฒนาภูมิภาคด้านนวัตกรรมแบบบูรณาการ โดยร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพฯ) ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจีน-ไทย–อาเซียน ณ กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ในชื่อ “ศูนย์วิจัยนวัตกรรมกว่างซี–อาเซียน–มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง” และยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ (Nanyang Technological University) มหาวิทยาลัยเสฉวน มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีแผนจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัยซิงฮวาและมหาวิทยาลัยจงหนานในระยะยาว
แผนงานในอนาคต
(1) สร้างศูนย์ข้อมูลทรัพยากรนวัตกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน และดำเนินการเป็นผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมจีน–อาเซียน
(2) สร้างช่องทางความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน และดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศในอาเซียน
(3) ดำเนินการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่มีความสามารถเชิงนวัตกรรมจีน–อาเซียน และสร้างฐานฝึกอบรมสำหรับผู้ที่มีความสามารถด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับชาติ
(4) จัดกิจกรรมโรดโชว์ผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียนในหลายรูปแบบและกิจกรรมการจับคู่เชื่อมต่อ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือโครงการและการนำผลไปปฏิบัติจริง
CATTC ส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศไทย
ภาพรวมความร่วมมือ
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและผู้แทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนและไทย ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน (CATTC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันประชุมและลงนามใน “หนังสือแสดงเจตจำนงในการสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างจีน-ไทย”อย่างเป็นทางการ ในการประชุมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจีน-อาเซียนครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการจัดตั้งกลไกการทำงานและสร้างคณะทำงานร่วมกันในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างจีน–ไทย
นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกลไกการทำงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรมจับคู่เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากกว่า 30 รายการ และส่งเสริมความร่วมมือทางเทคนิคมากกว่า 100 โครงการ เช่น “โครงการเยาวชนดีเด่นระดับนานาชาติ” และ “โครงการเยาวชนดีเด่นแห่งอาเซียน”(โครงการที่ผลักดันให้เยาวชนหรือนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากประเทศต่า งๆ ได้เข้ามาทำงานที่จีน) ซึ่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนระยะสั้นกับนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นรุ่นใหม่ที่มาจากประเทศไทย จำนวน 7 คน ประเทศไทยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าร่วมประชุมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจีน–อาเซียนเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน ทั้งสองฝ่ายได้สร้างความร่วมมือและสัมพันธ์ที่ดีในเรื่องความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มั่นคงและบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ ซึ่งความสำเร็จและความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนและไทย ได้กลายเป็นต้นแบบของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
หน่วยงานของคณะทำงานร่วมทวิภาคีของไทย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2534 เป็นหน่วยงานที่สำคัญหน่วยงานหนึ่งภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และเป็นหน่วยงานของไทยในคณะทำงานร่วมการถ่ายทอดเทคโนโลยีทวิภาคีจีน–ไทย ซึ่งรับผิดชอบด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยีการฝึกอบรมบุคลากร และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดย สวทช. มีศูนย์วิจัยระดับชาติ 5 แห่ง และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 แห่ง เป็นเวทีสำคัญสำหรับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน–ไทย
ผลงานความร่วมมือ
1. กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี
(1) ร่วมกันจัดงานนิทรรศการเทคโนโลยีขั้นสูงจีน–อาเซียน (China-ASEAN Expo Advanced Technology Exhibition) ซึ่งเป็นการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างบริษัทจีนและไทย โดยจัดขึ้นครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ในการประชุมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจีน-อาเซียนครั้งที่ 3 ภายใต้งาน China-ASEAN Expo โดยมีโครงการที่เข้าร่วม 88 โครงการ มีผู้เข้าร่วม 188 คน และมีการลงนามความร่วมมือใน 21 โครงการ
(2) เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ในงานการประชุมนานาชาติเกษตรยั่งยืนและเศรษฐกิจชีวภาพประจำปี พ.ศ. 2560 ณ กรุงเทพมหานคร จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งประเทศไทย สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน โดยศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน – อาเซียนได้ส่งผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและเศรษฐกิจชีวภาพจากมณฑลและเมืองต่าง ๆ ของจีนกว่า 100 คน มาเข้าร่วมในการประชุม โดยมี นาย Cao Kunhua เลขาธิการกลุ่มผู้นำพรรคและผู้อำนวยการกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซีจ้วง เยี่ยมชมพื้นที่จัดแสดงศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงาน
(3) CATTC สนับสนุนสถาบันและสถานประกอบการของไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานนิทรรศการ เช่น งานนิทรรศการด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคม (World Mobile Congress) งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์กว่างตุ้ง (Guangdong Seed Industry Expo) งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะของเซินเจิ้น (Shenzhen China Intelligent Equipment Industry Expo) และงานอื่น ๆ เช่น ในปี 2561 และปี 2562 ผู้แทนของสถาบันและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องมากกว่า 60 คนในอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะนานาชาติเซินเจิ้นและงานแสดงอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาชาติเซินเจิ้น และได้เยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ เช่น บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเซินเจิ้นฮั่วจั่วจำกัด(Shenzhen Haizhuo Biological Technology Co. , Ltd.) โรงงานเกษตรอัจฉริยะฟู่ซื่อคัง (Foxconn Wisdom Agricultural factory) ย่านการค้าฮั่วเฉียงเป่ย (Huaqiangbei) และบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างวิสาหกิจจีนและไทย
2. สร้างเวทีสำหรับการบ่มเพาะและสร้างสรรค์นวัตกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างจีนและไทย
เดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพฯ) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ลงนามว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีจีน–ไทย ณ เมืองหนานหนิง เพื่อร่วมกันสร้าง “ศูนย์นวัตกรรมกรุงเทพฯ ของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน” และในปีเดียวกันทางรัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซีจ้วง ได้จัดตั้งโครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน และสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของเซี่ยงไฮ้ โดยสนับสนุนเงินทุน สำหรับการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมของกว่างซีจ้วง และร่วมกันสร้างศูนย์นวัตกรรมจีน-ไทย–อาเซียน ของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียนในประเทศไทย โดยศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ถ่ายทอดความสำเร็จทางเทคโนโลยีของประเทศจีนไปยังประเทศอาเซียนและไปยังประเทศไทย ในขณะเดียวกัน เป็นการนำความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่โดดเด่นของประเทศในอาเซียนมาสู่ประเทศจีน เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือเชิงนวัตกรรมระหว่างจีนและอาเซียน
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ในการประชุมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม จีน–อาเซียนครั้งที่ 8 ได้มีการเปิดตัว ศูนย์นวัตกรรมจีน-ไทย–อาเซียน ณ กรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ
3. สนับสนุนจีนและไทยในการสร้างห้องปฏิบัติการและแพลตฟอร์มนวัตกรรมการวิจัยร่วมกัน
CATTC สนับสนุนจีนและไทยในการสร้างห้องปฏิบัติการและแพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกัน ในช่วงที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซีจ้วง ได้ให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และองค์กรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคของจีนและประเทศไทยในรูปแบบของโครงการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 20 โครงการ งบประมาณมากกว่า 30 ล้านหยวน ครอบคลุมด้านการเกษตร การแพทย์แผนโบราณ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ
(1) ปี พ.ศ. 2561 สถาบันวิจัยพืชผักของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตปกครองตนเองกว่างซี ได้ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ผักที่มีความต้านทานโรคสูงที่เหมาะสำหรับ 2 พื้นที่ทั้งในกว่างซีและประเทศไทย โดยจัดตั้งแปลงสาธิตพันธุ์ผัก เทคโนโลยีในการพัฒนา รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างบริษัทด้านเมล็ดพันธุ์ผักของทั้งสองฝ่าย และสร้างกลไกความร่วมมือในระยะกลางและระยะยาวเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมผักของกว่างซี เพื่อวางรากฐานในการส่งเสริมกว่างซีให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเพาะปลูกในภูมิภาคอาเซียน
(2) มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกว่างซี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมระหว่างประเทศสำหรับการแพทย์แผนจีน–ไทย การพัฒนาฐานข้อมูลวิชาชีพของพืชสมุนไพรจีน–ไทยเป็นครั้งแรกในโลก และการวิจัยเทคโนโลยีอาหารเพื่อสุขภาพที่ปรุงโดยยาแผนโบราณที่ใช้กันทั่วไปในประเทศจีนและประเทศไทย โดยมุ่งเน้นเพื่อให้เกิด “ความร่วมมือระหว่างประเทศจีน–อาเซียนด้านการแพทย์แผนจีน” โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้าง “ห้องปฏิบัติการร่วมจีน–อาเซียน เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยยาแผนโบราณ” โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยของจีนและอาเซียน โดยกำหนดให้ยาของชนเผ่าเย้า วัตถุดิบจากทะเล และยาจีนต้นตำรับเป็นเป้าหมายหลักร่วมกันดำเนินการวิจัยพื้นฐาน เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ยาแผนโบราณในประเทศจีนและอาเซียน และการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
(3) ในปี พ.ศ. 2563 ช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ทางกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซีจ้วง เป็นผู้นำในการออกคู่มือความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นในอาเซียนฉบับแรกของประเทศผ่านทางศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน โดยสนับสนุนสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพฯ) ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกว่างซี ในการวิจัยยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้ยาธรรมชาติของจีนและไทยอย่างเร่งด่วน ผลงานวิจัยมีความก้าวหน้าและงานวิจัยบางส่วนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์
4. การฝึกอบรมผู้ที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างจีนและไทย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน นำโดยกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซีจ้วง ได้ดำเนินการ “โครงการนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 100 คนจากอาเซียนที่จะมาทำงานในกว่างซี” เพื่อสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่จากประเทศอาเซียน ในการดำเนินการทางวิทยาศาสตร์ระยะสั้นและงานวิจัยในกว่างซี
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 7 คนจากประเทศไทยเดินทางมาทำงานในกว่างซีตามโครงการดังกล่าว ในด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การเกษตรสมัยใหม่และชีวการแพทย์ นอกจากนี้ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน–อาเซียน ได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมระหว่างประเทศจีน-อาเซียนสำหรับผู้จัดการด้านเทคนิคจำนวน 5 หลักสูตร และหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเทคนิคพิเศษอีกหนึ่งหลักสูตร โดยมีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนมีการฝึกอบรมด้านเทคนิคของประเทศไทยมากกว่า 30 คน
ที่มา : วารสาร “วิทย์ไมตรีไทย-จีน” ฉบับเดือนเมษายน 2564 “Gateway to ASEAN กว่างซี : ประตูเชื่อมจีน-อาเซียน”