“ตั้ง Hotline สายด่วนโควิด ตามย่านที่พักอาศัยต่างๆ ขอความช่วยเหลือ รถพยาบาล – อาหาร -ยา” หนึ่งในมาตรการที่ทางจีนทำให้ชัดเจน หลังเคยผิดพลาดดำเนินการช้า-ข่าวลือเยอะ จนระบาดทั่วประเทศ
.
ขอเป็นหนึ่งเสียงเล็กๆ พูดถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโควิดที่ภาครัฐอาจจะดูจากประเทศอื่น อย่าง “จีน” เป็นตัวอย่าง
วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในไทยรุนแรงเป็นอย่างมาก
.
ยิ่งในกรณีของผู้เสียชีวิต ผมได้รับข่าวสารจากทั้งทางโซเชียลและช่องทางอื่นๆ ยอมรับว่า เศร้าจริงๆ มีผู้ป่วยโควิดหลายคนต้องเสียชีวิต หรือมีอาการหนักมาก เพราะได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ผมเข้าใจเลยครับว่าตอนนี้โรงพยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและป้องกันโควิด และอย่างยิ่ง บุคลากรทางการแพทย์ กำลังทำงานกันอย่างหนัก จึงอาจจะมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์เวชภัณฑ์ และเครื่องไม้เครื่องมือในการรักษาพยาบาล อย่างจำนวนเตียงในโรงพยาบาลต่างๆก็ไม่เพียงพอแล้ว
.
ในความเห็นของผม ทั้งในฐานะคนไทยคนหนึ่ง และคนที่ติดตามข่าวสารเรื่องราวจากทางจีนมาตั้งแต่เกิดการระบาดใหม่ๆเมื่อปีที่แล้ว 2563 เลยอยากขอย้อนรอย เล่าในสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน ว่าทางการจีนรับมืออย่างไรบ้าง จนแก้ไขวิกฤติช่วงที่ระบาดหนักๆได้ ซึ่งขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้เป็นการอวย เพราะทางจีนเอง ก็มีทั้งมาตรการที่ไม่ได้ผลและได้ผล ช่วงแรกก็มีผิดพลาดแหล่ะ ไม่งั้นคงไม่รับาดหนัก ทะลักออกจากอู่ฮั่น
.
แต่ที่ผมเล่า เป็นในมุมสะท้อนความจริง เผื่อทางบ้านเรา (จริงๆก็หวังใจว่าเป็นทางรัฐบาลนั่นแหล่ะ) จะได้นำปรับใช้อะไรบ้าง
.
1. คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความผิดพลาดครั้งแรกและครั้งใหญ่ของจีนในช่วงแรกของการระบาดหนักที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย คือ “ออกมาตรการ Lockdown ล่าช้า” และไม่ชัดเจน มีข่าวลือจำนวนมาก ผู้คนจึงไม่รู้ว่า “ควรทำ” หรือ “ไม่ควรทำ” อะไร ทำให้เราได้เห็นปรากฎการณ์ “คนจำนวนมาก เดินทางออกนอกอู่ฮั่นไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วจีน” และเป็นที่มาของการระบาดในวงกว้าง
.
จริงๆอันนี้ก็ต้องบอกว่า โควิดมาในช่วงตรุษจีน ที่ทุกคนต่างวางแผนไปเที่ยว กลับบ้าน มันเลยเกิดการเดินทางทุกสารทิศ
.
2. จากข้อ 1. เมื่อมีข้อผิดพลาด จีนเรียนรู้จากตรงนั้น ทีนี้ พอมีการระบาดขึ้นมาใหม่ๆ ก็จะใช้มาตรการ Lockdown หรืออย่างน้อยก็ “จำกัดการเดินทาง” ในพื้นที่บริเวณที่พบการระบาดโดยทันที เพื่อจะได้คุมง่ายขึ้น โดยคีย์หลักของการทำข้อนี้ คือ
“การสื่อสารที่ชัดเจนจากภาครัฐ” และ “การบังคับใช้มาตรการที่เด็ดขาด”
.
3. เราอาจคิดว่า เอะอะก็ Lockdown เศรษฐกิจก็พังพอดี คืออย่างที่บอกไปครับ ลอง Lock และจำกัดโดยบังคับใช้จริงๆแบบชัดเจน เฉพาะพื้นที่ก่อน. ย้ำอีกครั้งคือ “ภาครัฐต้องสื่อสารชัดเจน”
และอีกอย่างคือ ออกมาตรการควบคุมและป้องกันกลุ่มเสี่ยง อย่างตอนที่จีนระบาด เขาจะมีบอกเลยนะครับว่าถ้าใครเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก คนแด่ มีโรคประจำตัว ให้อยู่บ้านเลย ห้ามออกจากบ้าน คนที่จะออกจากบ้านมาซื้อของไปใช้ในชีวิตประจำวันช่วงที่ Lockdown หรือจำกัดการเดินทาง จะต้องไม่ใช่คนกลุ่มเสี่ยง
.
4. ในเมืองที่มีการระบาดหนัก อย่างอู่ฮั่น ทางจีนจัดตั้งจุดป้องกันและควบคุมการระบาดพร้อมการอำนวยความสะดวก-ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนที่อยู่ที่บ้าน โดยการตั้งสายด่วนตามละแวกย่านที่พักอาศัยต่างๆ
ที่น่าสนใจคือ “แต่ละเบอร์สายด่วน Hotline” จะแบ่งว่า มีหน้าที่อะไร รับผิดชอบโดยหน่วยงานใด ภาระจะได้ไม่ไปกองที่เดียวอย่างที่เร่เจอตอนนี้คือ โรงพยาบาลหนักมาก
.
สายด่วนที่เขาแบ่ง เอาแค่ในอู่ฮั่น แบ่งเป็น 2 แบบ หลักๆ
– ต้องการขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น ต้องการรถพยาบาลไปรับเพื่อไปหาหมอ ต้องการยา
– ต้องการความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตและอื่นๆ เช่น คนแก่อยู่คนเดียว ไปไหนไม่ได้ ต้องการให้เอาข้าวเอาอาหาร อุปกรณ์ดำรงชีพมาส่ง
.
5. ช่วงที่ระบาดหนักๆ จีนทราบดีว่า ยิ่งตรวจไวเท่าไหร่ ยิ่งดี จพได้ควบคุมได้ เขาออกมาตรการเชิญชวนให้ตรวจ แต่แบบนี้ก็ยิ่งหนักต่อทางสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ใช่ไหมครับ. เท่าที่ทราบคือ จีนระดมทุนและเทงบไปในการป้องกันและควบคุมการระบาด ซื้ออุปกรณ์สำหรับใช้ในการตรวจ และใช้ในสถานพยาบาล
.
6. เวลามีแถลงการณ์ออกมาจากทางรัฐ มักจะเป็นการแถลงมาตรการที่มีผลต่อประชาชนทุกคน รวมถึงการให้กำลังใจประชาชน ซึ่งก็จะมาพร้อมกับมาตรการที่ชัดเจน เพราะถ้าไม่มีมาตรการที่ชัดเจน คนจีนก็พร้อมจะวิจารณ์ในโลกออนไลน์เหมือนกัน
.
7. จีนกำหนดมาตรการช่วยเหลือและดูแลบุคลากรทางการแพทย์อย่างชัดเจน เพราะถือเป็นแนวหน้าที่ทำงานหนักมาโดยตลอด ตัวอย่างมาตรการ เช่น
– เพิ่มค่าตอบแทนเป็น 2เท่า พร้อมกับสวัสดิการด้านสุขภาพและป้องกันการติดโรคระบาด สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ปฏืบัติหน้าที่ ณ แนวหน้า มณฑลหูเป่ย ซึ่งครอบคลุมทั้งที่เป็นบุคลากรในมณฑลหูเป่ยอยู่แล้วและมาจากมณฑลอื่นๆ
– อำนวยความสะดวกและจัดเตรียมที่พักที่ดีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในแนวหน้า พร้อมทั้งเตรียมสิ่งจำเป็นต่างๆที่ต้องใช้ เช่น เตรียมยาในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บพื้นฐานเอาไว้ให้, จัดเตรียมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ , ที่พักมีสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดี
– มีมาตรการป้องกันการเกิดปัญหาต่อสขภาพจิตอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงาน โดยจะมีการประเมินทางสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน และให้การปรึกษา-รักษาอย่างทันท่วงที หากบุคลากรทางการแพทย์คนใดมีปัญหา
– จัดหามาตรการและอุปกรณ์ป้องกันตนเองให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ณ แนวหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจะปลอดภัยและเสี่ยงน้อยที่สุด
.
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง