ซื้อตัวคนเก่งจากเมืองนอก ลดปัญหาสมองไหล ดึงคนจีนเก่งๆกลับจีน ดึงดูดด้วยเงินเดือนสูงๆ : หนึ่งในปัจจัยสำคัญ ม.จีนติดอันดับโลก
—–
ปัญหาสมองไหล คนจีนเก่งๆ พากันไปเรียนต่างประเทศและทำงานที่นั่นกันหมด โดยเฉพาะประเทศอเมริกา ถือเป็นปัญหาที่จีนเผชิญมาอย่างยาวนานหลายสิบปี อย่างที่มีการรายงานตัวเลขช่วงปี 2002 จนถึงราวปี 2007 พบว่า แต่ละปี คนจีนไปเรียนต่างประเทศมากกว่า 100,000 คนต่อปี แต่กลับไปทำงานที่จีนเพียง 20-30% (20,000 – 30,000 คน) เท่านั้น
.
หลายปีมานี้ ปัญหาสมองไหลเริ่มดีขึ้นจนมีการคาดกันว่า เริ่มจะหมดไปแล้วด้วย
.
และนี่ถือเป็นจุดสำคัญเหมือนกันที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาจีน การวิจัย การพัฒนานวัตกรรมของจีนดีขึ้น ดูได้จากการติดอันดับโลกของม.จีน
.
ตามข้อมูลจาก People’s Daily สื่อจีนรายใหญ่ เมื่อปี 2018 รายงานว่า นักศึกษาจีนที่ไปเรียนยังต่างประเทศ เริ่มกลับมาทำงานยังบ้านเกิดเมืองนอนหลังเรียนจบ เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม มากกว่า 83% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 โดยสาเหตุสำคัญมาจากความมั่นใจในเศรษฐกิจจีนและการพัฒนาของจีนที่ก้าวหน้าไปมากกว่าแต่ก่อน
.
ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีและเงินเดือนที่สูง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ดึงดูดให้คนจีนกลับจากต่างประเทศไปทำงานที่จีนเช่นกัน (ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งวิจัยหลังปริญญาเอก ม.หลายแห่งให้ผลตอบแทน 500,000 – 600,000 หยวน หรือคิดเป็นราว 2.5 – 3 ล้าน ต่อปี) ประกอบกับช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธืบดีและมีข้อขัดแย้งระหว่างจีนอเมริกาอยู่ตลอดในประเด็นสงครามการค้า ทำให้คนจีนยิ่งกลับจากอเมริกาไปจีนมากขึ้น
.
จากประสบการณ์ตรง ที่มหาวิทยาลัยที่อ้ายจงเคยศึกษาอยู่ที่จีน มักจะมีอาจารย์ชาวจีนที่เรียนจบและทำงานสายวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, อังกฤษ หรือประเทศอื่นๆแถปยุโรป มาจัดสัมมนาทางวิชาการ พูดถึงงานวิจัยสายที่ตนเองถนัดอยู่เสมอ
.
เคสหนึ่งก็คือทางมหาวิทยาลัย เชิญ (จ้าง) มา เพื่อให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา รวมถึงสร้าง connection เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือ-แลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ
.
แต่อีกเคสที่พบได้เหมือนกัน เป็นการให้อาจารย์ชาวจีนที่ทำงานกับ ม.ต่างประเทศ ได้กลับมาลองชิมลางมหาวิทยาลัยในประเทศและเป็นการดูตัว ก่อนจะซื้อตัวกลับมา ซึ่งหลายครั้งก็มีการซื้อตัวแล้ว แต่ให้บินมาสอน มาจัดสัมมนาแบบครั้งคราว เพื่อให้จูนกันติด ก่อนจะมาถาวร โดยเคสนี้เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากคำบอกกล่าวของ Professor ชาวจีนที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของอ้ายจงเอง
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง