ผู้อำนวยการควบคุมและป้องกันโรคจีน แก้ข่าวผ่านสื่อกระบอกเสียงทางการจีน ระบุ “ไม่ได้บอกว่าประสิทธิภาพวัคซีนจีนต่ำ มันเป็นการเข้าใจผิดของสื่อที่นำเสนอ” และที่ถูกต้องคือ “ต้องการแนะนำปรับปรุงประสิทธิภาพวัคซีนทุกเจ้าโดยภาพรวม”
—–
ตั้งแต่เมื่อวาน (11 เมษายน 2564) ที่มีการนำเสนอข่าวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ถึงประเด็น “ทางผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC ของจีน ออกมายอมรับว่า ประสิทธิภาพวัคซีนของจีน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดค่อนข้างต่ำ” จนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโซเชียล เพราะไทยเราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้วัคซีนโควิดจากจีน
.
อ้ายจงได้ลองหาข่าวในจีน ปรากฎว่าไม่มีสื่อหลักของจีนนำเสนอแนวนี้ แต่จะมีบางสื่อ South China Morning Post (SCMP) สื่อจีนในเครือ Alibaba ซึ่งจริงๆต้องบอกว่าเป็นสื่อฮ่องกงเสียมากกว่า ดังนั้นเราจึงได้เห็นข่าวเกี่ยวกับประเทศจีนแบบหลากหลายมุม แม้แต่ข่าวที่อาจทำให้ภาพจีนดูไม่ดีนัก
.
เพราะสื่อในจีนแผ่นดินใหญ่ต่างโดนตรวจกรองโดยทางการจีน จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากจะไม่เห็นข่าวประเด็น “ทางการจีนยอมรับว่าวัคซีนโควิดของจีนมีประสิทธิภาพต่ำ”
.
และก็คิดไว้ว่าอีกไม่นาน คงจะมีข่าวแก้ออกมา แล้วก็เป็นจริงตามนั้นครับ เมื่อสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนอย่าง Global Times เผยแพร่สกู๊ป Exclusive “ผู้อำนวยการ CDC จีน ปฏิเสธประเด็นยอมรับวัคซีนจีนมีประสิทธิภาพต่ำ” โดยระบุว่า “เป็นการตีความและนำเสนอผิดของสื่อต่างๆ”
.
โดย เกา ฝู ผู้อำนวยการ CDC จีน ให้สัมภาษณ์กับ GlobalTimes มีใจความสำคัญประมาณนี้
.
“ที่สื่อนำเสนอก่อนหน้านี้ เป็นการเข้าใจผิดทั้งหมด”
“ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนจีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดต่ำ แต่เป็นการแนะนำโดยรวมว่า ณ ตอนนี้ วัคซีนต่างๆที่มีการทำขึ้นมาทั่วโลก บางเวลามีทั้งอัตราการป้องกันที่สูงและต่ำ (คิดว่าคงหมายถึง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประเทศที่ใช้)
.
โดยเราสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของวัคซีนได้ ด้วยการปรับขั้นตอนการฉีดวัคซีนและระยะห่างระหว่างโดส”
.
อย่างระยะห่างที่เคยกำหนดไว้ว่าระหว่างโดส ฉีดห่างกัน 14 วัน ทางจีนก็ได้ปรับเป็น 3-8 สัปดาห์ โดยเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้
.
ในการสัมภาษณ์ ผอ.เกา ยังกล่าวถึงประสิทธิภาพการป้องกันขั้นต่ำสำหรับวัคซีนโควิด ที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ ที่ 50% ขึ้นไป
.
ในก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดเผยจากสื่อต่างๆออกมาว่า ประสิทธิภาพวัคซีนจีน Sinovac ที่ฉีดในบราซิล อยู่ที่ราว 50%+
.
นอกจากนี้ GlobalTimes ยังได้นำเสนอเมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2564 ว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (Hong Kong University) มีแผนเปิดรับอาสาสมัครมาทดลองฉีดวัคซีนแบบ “ผสม – mixed vaccine” โดยเอาวัคซีนจากหลายๆผู้ผลิตมาฉีดรวมกัน ซึ่งตามแผนคือ ครั้งแรกฉีดวัคซีนโควิดแบบ mRNA จาก Pfizer และครั้งต่อไปวัคซีนจาก Sinovac ของจีน
.
ที่มา:
https://www.globaltimes.cn/page/202104/1220774.shtml
https://www.globaltimes.cn/page/202104/1220695.shtml
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-56713663
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #วัคซีน #โควิด
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง