New Infrastructure แผนการสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีของจีน

ในปี 2563 เศรษฐกิจจีนเผชิญกับแรงกดดันและความเสี่ยงจากหลายปัจจัยตั้งแต่ มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ตลอดจนถึงความตึงเครียดจากการแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้รัฐบาลจีนเร่งดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการพึ่งพาการส่งออกและเทคโนโลยีของต่างชาติ ไปสู่การพึ่งพาตนเองทั้งด้านการบริโภคภายในประเทศ และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง โดยเฉพาะ ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) การผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health and Life Science) และวัสดุใหม่ (New Materials)

1. New Infrastructure 

หนึ่งในนโยบายของจีนที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในการประชุมสองสภา ปี 2563 คือ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (New Infrastructure) แผนการที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2563 – 2568 โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณสำหรับปี 2563 กว่า 563,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

New Infrastructure ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในการประชุมคณะทำงานของรัฐบาลกลาง เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2562 ซึ่งเป็นแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมเทคโนโลยีหลายประเภท เช่น AI 5G Internet of Things (IoT) รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ได้แถลงการณ์กำหนดขอบเขตเนื้อหาของ New Infrastructure ไว้อย่างชัดเจน ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน 3 ด้านหลัก ได้แก่

(1) โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (Information-based Infrastructure) แบ่งเป็น 3 ส่วนย่อย คือ

(1.1) โครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตและสารสนเทศ เช่น เทคโนโลยี 5G เทคโนโลยี IoT Industrial Internet of Things (IIoT) และระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียม

(1.2) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI Cloud Computing และ Blockchain

(1.3) โครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผล เช่น Big Data Center และ ศูนย์ประมวลผลข้อมูลอัจริยะ

(2) การประยุกต์ปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิม (Converged Infrastructure) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น Internet Big Data AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมให้เป็นนวัตกรรมที่ทันสมัย เช่น ระบบการขนส่งอัจฉริยะ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอัจฉริยะ

(3) โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Innovative Infrastructure) 

การลงทุนสร้าง New Infrastructure มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของจีนใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในอนาคต สร้างพื้นฐานที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวชี้นำการพัฒนา และยกระดับคุณภาพการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมถึงหลากหลายภาคส่วนของจีน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม การแพทย์ การเงิน การคมนาคม การไฟฟ้า สื่อมวลชน ความเป็นอยู่ของสังคมเมือง และความปลอดภัยของส่วนรวม เป็นต้น

2. นโยบายด้าน Big Data Center

การดำเนินงานตามแผนการ New Infrastructure ในส่วนของการสร้าง Big Data Center ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมของจีน จะเป็นรูปแบบการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ได้ประกาศนโยบายก่อนการประชุมสองสภาเพียงหนึ่งสัปดาห์ กำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นระดับมณฑล เขตปกครองตนเอง และเทศบาลนครปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ และฉงชิ่ง สนับสนุนการสร้าง Big Data Center เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และสนับสนุนให้ฝ่ายอุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้บริการ Cloud Computing เพื่อแบ่งปันข้อมูลในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะข้อมูลในภาคการผลิต เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเก่าและพัฒนาให้อุตสาหกรรมในประเทศยกระดับขึ้นเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล

ประกาศของ MIIT ระบุว่า Big Data Center จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมภาคสำคัญต่าง ๆ เช่น วัสดุใหม่ (New Materials)  สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product) ข้อมูลดิจิทัล (Digital Information) ให้ก้าวข้ามอุปสรรคเชิงเทคนิคในการจัดการข้อมูลที่หลากหลาย และเมื่อ New Infrastructure มีความพร้อม จีนจะสามารถพัฒนาความเชื่อมโยงจนเกิดเป็นตลาดแลกเปลี่ยนข้อมูลภาคอุตสาหกรรม (Industrial Data Trading market)

3. บทสรุป

แผนการลงทุน New Infrastructure ด้วยเม็ดเงินกว่า 10 ล้านล้านหยวน นับเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลจีนที่มีความเสี่ยงท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังย่ำแย่ รวมทั้งงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลกลางที่ถูกปรับลดลงกว่าร้อยละ 9 จากปีที่ผ่านมาเนื่องจากผลกระทบที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แผนการดังกล่าวยิ่งแสดงให้เห็นว่าจีนต้องการที่จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติโดยเร็วที่สุด และผลักดันบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เช่น Alibaba และ Huawei ให้เติบโตและสามารถแข่งขันในการแย่งชิงตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา 

รายละเอียดระยะเวลาและการดำเนินงานของแผนการลงทุน New Infrastucture เป็นประเด็นสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนที่นานาประเทศจะต้องเฝ้าติดตาม เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดรับกับบทบาทของจีนที่จะเพิ่มสูงขึ้นในเวทีการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกในอนาคต

อ้างอิง

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]